Ratchasuda Blog มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นช่องทางสำหรับบุคลากรในการ เผยแพร่ แลกเปลี่ยน องค์ความรู้ด้านคนพิการ รวมถึงด้านอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานภายในวิทยาลัย โดยหวังให้องค์ความรู้เหล่านี้ได้รับการรวบรวมเป็นลายลักษณ์อักษร สะดวกต่อการสืบค้น เรียนรู้ อีกทั้งช่วยให้เกิดการต่อยอดองค์ความรู้ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาวิทยาลัยให้เจริญก้าวหน้า สร้างประโยชน์ให้งานด้านคนพิการในประเทศไทย

วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

รูปแบบของภาพ

เมื่อเราคิดจะถ่ายภาพใดๆ ก็ตามเราจะต้องคำนึงถึงเสียก่อนว่า เราจะกำหนดรูปแบบภาพให้ออกมาในลักษณะใด ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เราจะต้องกำหนดว่าจะจัดวางภาพในลักษณะแนวนอน (Landscape) หรือ แนวตั้ง (Portrait) ดีนั่นเอง โดยทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ให้เราพิจารณาและกำหนดเอาจาก รูปทรงของวัตถุที่ต้องต้องการจะถ่าย (Object) นั้นๆ เป็นสำคัญ

ภาพแนวนอน (Landscape) ภาพในแนวนอนจะให้ความรู้สึกในการมองที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด ทั้งนี้เพราะเป็นทัศนวิสัยในการมองแบบปกติของคนนั่นเอง ในสภาวะของคนปกติจะคุ้นเคยกับภาพแนวนอนมากกว่าแนวตั้ง และกล้องถ่ายภาพแบบปกติทั่วๆไปนั้น ก็ได้รับการออกแบบมาให้ใช้งานได้อย่างสะดวกในการบันทึกภาพในแนวนอนเช่นกัน ให้สังเกตว่าตัวเราเองออกจะรู้สึก ว่าจะมีกอาการฝืน ๆ อยู่บ้างเมื่อจำเป็นต้องเปลี่ยนมาบันทึกภาพในลักษณะที่เป็นแนวตั้ง โดยภาวะปกติในการมองภาพ ของคนทั่วๆ ไปนั้น จะมองในลักษณะจากซ้ายไปขวา หรือ จากขวาไปซ้าย นั่นคือ อันเป็นลักษณะการไล่สายตาในรูปแบบแนวนอน การถ่ายภาพแนวนอน เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการจัดวางกรอบภาพในแนวนอนนี้ก็ยังเหมาะสมกับการถ่ายภาพที่ต้องการแสดงถึงการเคลื่อนไหว หรือ เคลื่อนที่ผ่านหน้าเข้าหรือออกของวัตถุ

ภาพแนวตั้ง (Portrait) จะให้ความรู้สึกในการมองโดยการเริ่มต้นจากด้านบนลงสู่ด้านล่าง หรือ จากด้านล่างขึ้นไปสู่ด้านก็ได้ (ทั้งสองทาง) ลักษณะการวางภาพในแนวตั้งนี้ เพื่อที่จะต้องการเน้นจุดสำคัญของภาพให้มีความโดดเด่นยิ่งขึ้น หรือ ต้องการเน้นความสูงใหญ่ มั่นคง อลังการ ฯลฯ ดังเช่น สิ่งปลูกสร้าง งานสถาปัตยกรรม และ/หรือ ภาพบุคคล เป็นต้น หรืออีกนัยหนึ่ง...เป็นการสร้างความรู้สึกถึงความห่างไกล หรือถูกแยกออกจากกันของวัตถุในภาพมากกว่าภาพทางแนวนอน

ผู้เขียน: คุณสุวัฒน์ชัย จันทร์เฮง หัวหน้างานโสตทัศนูปกรณ์ วิทยาลัยราชสุดา

แหล่งข้อมูล
1. Thailand Largest Photo Magazine
2. ShutterPhoto.com

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อะไรคือ CCD และ CMOS ของกล้องดิจิทัล

จากบทความในฉบับแรกในการเลือกซื้อกล้องดิจิตอลนั้นในกล้องทุกตัวนั้นแน่นอนหัวใจสำคัญที่สุดอันหนึ่งที่จะทำให้กล้องตัวนั้นถ่ายทอดรูปออกมาได้สวยก็คงหนีไม่พ้น Sensor ในการรับภาพ ซึ่งมีหน้าที่รับแสงที่เข้ามาแล้วเปลี่ยนค่าแสงนั้นๆเป็นสัญญาณดิจิตอล ซึ่งในปัจจุบันมี Sensor รับภาพอยู่เพียง 2 แบบใหญ่ๆเท่านั้น ซึ่งก็คือ CCD (Charge Coupled Device) และ CMOS (Complementary Metal Oxide Semiconductor) ที่เป็นคู่แข่งที่สำคัญในท้องตลาด

CCD Sensor ที่ทำงานโดยส่วนที่เป็น Sensor แต่ละพิกเซล จะทำหน้าที่รับแสงและเปลี่ยนค่าแสงเป็นสัญญาณอนาล็อก ส่งเข้าสู่วงจรเปลี่ยนค่าอนาล็อกเป็นสัญญาณดิจิตอลอีกที ส่วน CMOS เป็น Sensor ที่มีลักษณะการทำงานโดยแต่ละพิกเซลจะมีวงจรย่อยๆเปลี่ยนค่าแสงที่เข้ามาเป็นสัญญาณดิจิตอลในทันที ไม่ต้องส่งออกไปแปลงเหมือน CCD สรุปง่ายๆคือ CMOS จะมีวงจรแปลงสัญญาณแสงในแต่ละพิกเซลเลย ส่วน CCD ตัวรับแสงจะรับแสงอย่างเดียว และจะส่งค่าที่ได้ออกมาให้วงจรที่มีหน้าที่แปลงสัญญาณอีกที

ด้านความเร็วในการการตอบสนองในแง่นี้ CMOS จะดีกว่า เนื่องจากตัว CMOS จะแปลงสัญญาณเสร็จในตัวเอง ไม่ต้องส่งข้อมูลไปยังวงจรอื่นอีก

คุณภาพการรับแสง Dynamic Range ในที่นี้ CCD ได้เปรียบอย่างมาก เนื่องจากตัวรับแสงของ CCD มีแต่ส่วนรับแสงเพียงอย่างเดียว ต่างกับ CMOS ที่ต้องมีวงจรแปลงสัญญาณในแต่ละพิกเซลด้วย ดังนั้นถ้าในขนาดที่เท่ากัน ส่วนรับแสงของ CCD จะมีขนาดที่ใหญ่กว่า เนื่องจากไม่ต้องเสียพื้นที่ไปให้วงจรอื่นๆ เหมือน CMOS

ความละเอียด CCD ก็ได้เปรียบเนื่องจากเหตุผลเดียวกันกับ Dynamic Range ส่วนการใช้พลังงาน CMOS มีประสิทธิภาพดีกว่าเนื่องจากสามารถรวมวงจรต่างๆไว้ในตัวได้เลย ต่างจาก CCD ที่ต้องมีวงจรแปลงค่าเพิ่มขึ้นมา

ดังนั้นผู้เขียนพอจะสรุปได้คร่าวๆ จากประสบการณ์ว่าในแง่ของการทำงาน ด้านความเร็ว และการใช้พลังงาน CMOS ได้เปรียบ ส่วนในแง่คุณภาพของภาพ CCD จะได้เปรียบ เนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยีในการผลิตสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ช่องว่างข้อได้เปรียบของ Sensor ทั้ง 2 แบบ ถูกลดต่ำลง โดยหากจะย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 2-5 ปีที่ผ่านมา ตอนนั้นทุกคนก็คงคิดว่า CCD จะเอาชนะ CMOS ได้อย่างแน่นอน เนื่องจากข้อได้เปรียบในเรื่องคุณภาพ และความละเอียดที่พัฒนาได้ง่ายกว่าแต่สิ่งที่ CMOS มีแล้วเป็นจุดสำคัญที่สุดก็คือในเรื่องของ 'ต้นทุนที่ต่ำกว่า' เนื่องจากสามารถรวมทุกอย่างไว้ในวงจรเดียวได้เลย

ผู้เขียน: คุณสุวัฒน์ชัย จันทร์เฮง หัวหน้างานโสตทัศนูปกรณ์ วิทยาลัยราชสุดา

แหล่งข้อมูล
1.คู่มือกล้อง ดิจิตอล SLR ภาษาไทยฉบับสมบูรณ์ โดย ประสิทธิ์ จันเสรีกร บรรณาธิการนิตยสาร ชัตเตอร์ โฟโต้กราฟฟี่
2. แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จก.
3. 20 Year Thailand Largest Photo Magazine April 2009 No.9 Vol.19
4. ShutterPhoto.com

10 วิธีกับการเลือกซื้อกล้องดิจิทัล

ปัญหายอดนิยม ของผู้ที่สนใจ หรือกำลังจะตัดสินใจ เลือกซื้อกล้องดิจิตอล มาไว้ใช้งานสักตัวหนึ่ง ทั้งนี้เป็นเพราะว่า กล้องดิจิตอลในปัจจุบัน มีให้เลือกซื้อมากมาย การที่จะซื้อกล้องดิจิตอล สักหนึ่งตัว จึงนับเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวไม่น้อย โดยเฉพาะบรรดามือใหม่ ที่ไม่เคยรู้เรื่องกล้องดิจิตอลมาก่อน บทความนี้ สามารถใช้เป็นแนวทาง ในการตัดสินใจของคุณครับ
1. ด้านงบประมาณ ก่อนอื่นต้องมาดูกันว่า คุณจะตั้งงบไว้สักเท่าใด ในการหาซื้อกล้อง เพราะราคาตลาดมีตั้งแต่ ราคาไม่กี่พันบาท ซึ่งทำอะไรไม่ได้มากนัก ที่พอใช้ได้จะเริ่มจากหมื่นต้นๆ ไล่เรียงลำดับไปตามคุณภาพที่ดีขึ้น เมื่อตั้งงบไว้แล้วก็มองหากล้องที่อยู่ในงบของเรา รุ่นที่มีราคาสูงกว่าคงไม่ต้องนำมาพิจารณาให้ปวดหัวครับ
2. ด้านเซ็นเซอร์รับภาพ ถ้าดูตามคุณสมบัติมักจะเขียนว่า Image sensor หรือ Image recording พูดง่ายๆ ก็คือ อุปกรณ์ ที่ใช้รับภาพแทนฟิล์มนั่นเอง บางยี่ห้อใช้ CMOS แต่ส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดใช้ CCD ขนาดใหญ่บ้าง เล็กบ้าง แต่ใหญ่กว่าย่อมได้เปรียบ เพราะเก็บรายละเอียดได้มาก (แพงกว่า) อาจจะดูจากคุณสมบัติว่าใช้ CCD ขนาดเท่าใดเช่น 1/1.8 นิ้ว, 1/2.7 นิ้ว หรือ 2/3 นิ้ว (วัดตามแนวทแยงมุม)
3. ด้านความละเอียดกล้อง ต้องดูที่ Effective เวลาซื้อกล้องดิจิตอลเรามักจะได้ยินคนขายบอกว่าตัวนี้ 5 ล้านพิกเซล ตัวนี้ 10 ล้านพิกเซล เป็นความละเอียดของเซ็นเซอร์ภาพ ดังนั้นนาดภาพจริงจะน้อยกว่านั้น ลองดูคุณสมบัติในคู่มือ หรือโบรชัวร์ หาคำว่า Effective ซึ่งก็คือขนาดภาพจริงๆ ที่จะได้ เช่น ในโบรชัวร์บอกว่า 5.24 ล้านพิกเซล แต่ตามคุณสมบัติระบุชัดว่า ขนาดภาพใหญ่สุดที่ได้คือ 2560 x 1920 พิกเซล ถ้าคุณดูก็จะได้ 4.9 ล้านพิกเซลครับ
4. ด้านการตอบสนอง Response กล้องดิจิตอลเกือบทั้งหมด จะไม่ยอมระบุไว้ใน คุณสมบัติกล้องของตัวเอง ยกเว้นกล้องคอมแพคระดับไฮเอนด์ หรือดิจิตอล SLR จะถือว่าเป็นจุดเด่น เอามาคุยไว้ในแผ่นโฆษณากันเลยครับ บางรุ่นตอบสนองตั้งแต่ เปิดสวิตซ์กล้องแล้ว พร้อมที่จะกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งวินาที แทบไม่ต่างกับกล้อง ออโต้โฟกัส 35 มม. ที่ใช้ฟิล์มทีเดียว ทำให้ไม่ค่อยรู้สึกว่า ใช้กล้องดิจิตอลหรือใช้ฟิล์มแบบใหนดีกว่ากัน อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้มีการพัฒนา ที่ดีขึ้นตามลำดับ ต่อไปกล้องดิจิตอลราคาประหยัด ก็จะมีการตอบสนอง ที่รวดเร็วไม่แพ้กล้องไฮเอนด์ หรือดิจิตอล SLR
5. ด้านหน่วยความจำ Buffer ยิ่งมากยิ่งดี การที่มีบัฟเฟอร์ หรือหน่วยความจำในตัวกล้องมากๆ จะ ช่วยให้การถ่ายภาพ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว กล่าวคือ หลังจากที่เรากดชัตเตอร์ ถ่ายภาพไปแล้ว ข้อมูลภาพ ที่ผ่านอิมเมจโปรเซสซิ่ง จะถูกพักเก็บไว้ก่อนด้วยบัฟเฟอร์ ก่อนที่จะบันทึกลงในการ์ดต่อไป
6. ด้านระบบโฟกัส กล้องดิจิตอลเกือบ ทุกรุ่นเป็นระบบออโต้โฟกัส ทำงานได้รวด เร็วไม่แตกต่างกันมากนัก บางรุ่นมีจุดโฟกัสเฉพาะตรงกลางภาพ แต่บางรุ่นมี 3 หรือ 5 จุด กระจายอยู่ทั่วทั้งภาพ กล้องบางรุ่นมีวงแหวนหมุนปรับโฟกัส จะแม่นยำกว่า คล้ายกับกล้อง SLR นอกจากนี้มีโหมดอินฟินิตี้ (สัญลักษณ์รูปภูเขา) สำหรับการถ่ายภาพสิ่งที่อยู่ระยะไกล กล้องจะถ่ายภาพได้เร็วขึ้นเพราะไม่ต้องปรับหาโฟกัสอีก
7. ด้านระบบแฟลช กล้องคอมแพคดิจิตอลส่วนใหญ่มีแฟลชขนาดเล็กในตัว ทำงานอัตโน มัติ เมื่อแสงน้อยเกินไป และมีระบบแฟลชกับความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ทำให้การใช้แฟลช ถ่ายภาพเวลากลางคืน ฉากหลังไม่ดำทึบ หรือระบบสัมพันธ์แฟลช ที่ม่านชัตเตอร์ที่สอง เพื่อการใช้เทคนิคพิเศษถ่ายภาพ เคลื่อนไหวระบบแฟลชแก้ตาแดง เมื่อใช้ถ่ายภาพคน ในระยะใกล้ แบบตรงๆครับ
8. ด้านดิจิตอลซูม ลูกเล่นที่มีก็ดีไม่มีก็ไม่เป็นไรเวลาดูโฆษณา กล้องดิจิตอลว่า ซูมได้มากน้อยแค่ไหน ให้ดูที่ Optical Zoom ซึ่งจะบอกไว้ในสเปค เช่น 3X ก็คือ 3 เท่า นับจากเลนส์ช่วงกว้างสุด เช่น 30-90 มม. และบอกต่อว่ามีดิจิตอลซูม 2X รวมแล้วซูมได้ 6X คือ 30-180 มม. แต่ในความเป็นจริงช่วงซูมที่ดิจิตอลสูงสุด 180 มม. นั้น ขนาดภาพจะเล็กลงด้วย เช่น ความละเอียด 3 ล้านพิกเซล ถ้าซูมที่ดิจิตอลจะเหลือแค่ 1.5 ล้านพิกเซลครับ
9. ด้านระบบบันทึกภาพ สำหรับฟังก์ชั่นการถ่ายภาพ จะไม่แตกต่างกับกล้องใช้ฟิล์มมากนัก ส่วนใหญ่มีระบบโปรแกรมอัตโนมัติเป็นหลัก โดยกล้องจะเลือกค่าความเร็วชัตเตอร์ และรูรับแสงที่เหมาะสม ถ้าแสงน้อยก็จะปรับความไวแสงให้สูงขึ้น (เลือกโหมดความไวแสงที่ออโต้) ทำให้ใช้งานง่ายบางรุ่นมีระบบถ่ายภาพซ้อนด้วยเพื่อสร้างสรรค์ ภาพพิเศษบางอย่างครับ
10. ด้านวีดีโอคลิป กล้องถ่ายภาพดิจิตอลแบบคอมแพคส่วนใหญ่ ถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้ด้วยรูปแบบคล้ายกับกล้องวีดีโอ แต่มักมีภาพขนาดเล็กมาก เช่น 320 x 240 พิกเซล แต่บางรุ่นถ่ายวีดีโอได้ขนาด 640 x 480 พิกเซล หรือขนาด VGA เท่า กับกล้องวีดีโอทั่วไป บางรุ่นถ่ายภาพเคลื่อน ไหวอย่างเดียว แต่บางรุ่นบันทึกเสียงได้ด้วย ฟอร์แมทภาพมีทั้งแบบ MPEG และ Quick Time โดยถ่ายภาพที่ความเร็ว 10-15 ภาพ/ วินาที ขนาดไฟล์เล็กมาก เหมาะสำหรับ ใช้ส่งภาพไปทางอีเมล์ ภาพที่ได้จะดูกระตุกนิด หน่อย สำหรับรุ่นที่คุณสมบัติระบุว่า ถ่ายวีดีโอที่ ความเร็ว 30 เฟรม/วินาที ภาพจะดูนุ่มนวล และส่วนใหญ่จะถ่ายเป็นวีดีโอคลิปสั้นๆ ไม่เกิน 30 หรือ 60 วินาทีต่อครั้ง และบางรุ่นถ่ายภาพได้นานตามจำนวนความจุของการ์ดครับ
ผู้เขียน: คุณสุวัฒน์ชัย จันทร์เฮง หัวหน้างานโสตทัศนูปกรณ์ วิทยาลัยราชสุดา