Ratchasuda Blog มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นช่องทางสำหรับบุคลากรในการ เผยแพร่ แลกเปลี่ยน องค์ความรู้ด้านคนพิการ รวมถึงด้านอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานภายในวิทยาลัย โดยหวังให้องค์ความรู้เหล่านี้ได้รับการรวบรวมเป็นลายลักษณ์อักษร สะดวกต่อการสืบค้น เรียนรู้ อีกทั้งช่วยให้เกิดการต่อยอดองค์ความรู้ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาวิทยาลัยให้เจริญก้าวหน้า สร้างประโยชน์ให้งานด้านคนพิการในประเทศไทย

วันพุธที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560

สื่อมัลติมีเดียประกอบเสียง พรบ.เพื่อคนพิการ ตอนที่ 1

สื่อมัลติมีเดียประกอบเสียง
เรื่อง พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ


คำบรรยาย 

สวัสดีค่ะ ท่านกำลังอยู่กับเราในช่อง RS Channel วันนี้ เราจะมาเล่าให้ทุกท่านทราบถึงพระราชบัญญัติที่มีความสำคัญกับคนพิการอย่างมากค่ะ นั่นก็คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พระราชบัญญัติฉบับนี้ ประกาศใช้ในปี 2550 และแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2556 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมากกับคนพิการไทยเลยค่ะ โดยเฉพาะมาตราที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพและการจ้างงานคนพิการ ซึ่งก็คือ มาตรา 33 34 และ 35 แต่วันนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับ มาตรา 33 กันก่อนนะคะ มาตรา 33 ระบุว่า ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐ รับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงาน ในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการหรือหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกกฎกระทรวงกำหนดจำนวนที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐ จะต้องรับคนพิการเข้าทำงานค่ะ โดยในปี พ.ศ. 2554 ได้มีการออกกฎกระทรวง กําหนดจํานวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐ จะต้องรับเข้าทํางาน และจํานวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ จะต้องนําส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยกำหนดว่า ให้นายจ้าง เจ้าของสถานประกอบการ หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีลูกจ้างตั้งแต่หนึ่งร้อยคนขึ้นไป รับคนพิการที่สามารถทํางานได้ ไม่ว่าจะอยู่ในตําแหน่งใด ในอัตราส่วนลูกจ้างที่มิใช่คนพิการทุกหนึ่งร้อยคน ต่อคนพิการหนึ่งคน เศษของหนึ่งร้อยคนถ้าเกินห้าสิบคนต้องรับคนพิการเพิ่มอีกหนึ่งคนค่ะ เช่น ถ้าบริษัท A มีพนักงานทั้งหมด 500 คน บริษัท A จะต้องจ้างพนักงานที่เป็นคนพิการประเภทต่างๆ อย่างน้อย 5 คน หรือบริษัท B มีพนักงาน 560 คน จะต้องจ้างพนักงานที่เป็นคนพิการอย่างน้อย 6 คนค่ะ พระราชบัญญัติมาตรานี้ เปิดโอกาสให้คนพิการ สามารถเข้าทำงานในสถานประกอบการ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนพิการต้องการอย่างมากค่ะ แต่บางท่านอาจสงสัยว่า ถ้านายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ ยังไม่พร้อมจะรับคนพิการเข้าทำงาน จะมีแนวทางปฏิบัติอื่นๆ เพิ่มเติมหรือไม่ ในพระราชบัญญัติก็ได้กำหนดไว้ในมาตรา 34 และ 35 ซึ่งจะเล่าต่อในตอนต่อไปนะคะ และหากสนใจเนื้อหาอื่นๆ เพิ่มเติม กดติดตามช่อง RS Channel ของเราด้วยนะคะ แล้วพบกันใหม่ สวัสดีค่ะ