Ratchasuda Blog มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นช่องทางสำหรับบุคลากรในการ เผยแพร่ แลกเปลี่ยน องค์ความรู้ด้านคนพิการ รวมถึงด้านอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานภายในวิทยาลัย โดยหวังให้องค์ความรู้เหล่านี้ได้รับการรวบรวมเป็นลายลักษณ์อักษร สะดวกต่อการสืบค้น เรียนรู้ อีกทั้งช่วยให้เกิดการต่อยอดองค์ความรู้ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาวิทยาลัยให้เจริญก้าวหน้า สร้างประโยชน์ให้งานด้านคนพิการในประเทศไทย

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อะไรคือ CCD และ CMOS ของกล้องดิจิทัล

จากบทความในฉบับแรกในการเลือกซื้อกล้องดิจิตอลนั้นในกล้องทุกตัวนั้นแน่นอนหัวใจสำคัญที่สุดอันหนึ่งที่จะทำให้กล้องตัวนั้นถ่ายทอดรูปออกมาได้สวยก็คงหนีไม่พ้น Sensor ในการรับภาพ ซึ่งมีหน้าที่รับแสงที่เข้ามาแล้วเปลี่ยนค่าแสงนั้นๆเป็นสัญญาณดิจิตอล ซึ่งในปัจจุบันมี Sensor รับภาพอยู่เพียง 2 แบบใหญ่ๆเท่านั้น ซึ่งก็คือ CCD (Charge Coupled Device) และ CMOS (Complementary Metal Oxide Semiconductor) ที่เป็นคู่แข่งที่สำคัญในท้องตลาด

CCD Sensor ที่ทำงานโดยส่วนที่เป็น Sensor แต่ละพิกเซล จะทำหน้าที่รับแสงและเปลี่ยนค่าแสงเป็นสัญญาณอนาล็อก ส่งเข้าสู่วงจรเปลี่ยนค่าอนาล็อกเป็นสัญญาณดิจิตอลอีกที ส่วน CMOS เป็น Sensor ที่มีลักษณะการทำงานโดยแต่ละพิกเซลจะมีวงจรย่อยๆเปลี่ยนค่าแสงที่เข้ามาเป็นสัญญาณดิจิตอลในทันที ไม่ต้องส่งออกไปแปลงเหมือน CCD สรุปง่ายๆคือ CMOS จะมีวงจรแปลงสัญญาณแสงในแต่ละพิกเซลเลย ส่วน CCD ตัวรับแสงจะรับแสงอย่างเดียว และจะส่งค่าที่ได้ออกมาให้วงจรที่มีหน้าที่แปลงสัญญาณอีกที

ด้านความเร็วในการการตอบสนองในแง่นี้ CMOS จะดีกว่า เนื่องจากตัว CMOS จะแปลงสัญญาณเสร็จในตัวเอง ไม่ต้องส่งข้อมูลไปยังวงจรอื่นอีก

คุณภาพการรับแสง Dynamic Range ในที่นี้ CCD ได้เปรียบอย่างมาก เนื่องจากตัวรับแสงของ CCD มีแต่ส่วนรับแสงเพียงอย่างเดียว ต่างกับ CMOS ที่ต้องมีวงจรแปลงสัญญาณในแต่ละพิกเซลด้วย ดังนั้นถ้าในขนาดที่เท่ากัน ส่วนรับแสงของ CCD จะมีขนาดที่ใหญ่กว่า เนื่องจากไม่ต้องเสียพื้นที่ไปให้วงจรอื่นๆ เหมือน CMOS

ความละเอียด CCD ก็ได้เปรียบเนื่องจากเหตุผลเดียวกันกับ Dynamic Range ส่วนการใช้พลังงาน CMOS มีประสิทธิภาพดีกว่าเนื่องจากสามารถรวมวงจรต่างๆไว้ในตัวได้เลย ต่างจาก CCD ที่ต้องมีวงจรแปลงค่าเพิ่มขึ้นมา

ดังนั้นผู้เขียนพอจะสรุปได้คร่าวๆ จากประสบการณ์ว่าในแง่ของการทำงาน ด้านความเร็ว และการใช้พลังงาน CMOS ได้เปรียบ ส่วนในแง่คุณภาพของภาพ CCD จะได้เปรียบ เนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยีในการผลิตสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ช่องว่างข้อได้เปรียบของ Sensor ทั้ง 2 แบบ ถูกลดต่ำลง โดยหากจะย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 2-5 ปีที่ผ่านมา ตอนนั้นทุกคนก็คงคิดว่า CCD จะเอาชนะ CMOS ได้อย่างแน่นอน เนื่องจากข้อได้เปรียบในเรื่องคุณภาพ และความละเอียดที่พัฒนาได้ง่ายกว่าแต่สิ่งที่ CMOS มีแล้วเป็นจุดสำคัญที่สุดก็คือในเรื่องของ 'ต้นทุนที่ต่ำกว่า' เนื่องจากสามารถรวมทุกอย่างไว้ในวงจรเดียวได้เลย

ผู้เขียน: คุณสุวัฒน์ชัย จันทร์เฮง หัวหน้างานโสตทัศนูปกรณ์ วิทยาลัยราชสุดา

แหล่งข้อมูล
1.คู่มือกล้อง ดิจิตอล SLR ภาษาไทยฉบับสมบูรณ์ โดย ประสิทธิ์ จันเสรีกร บรรณาธิการนิตยสาร ชัตเตอร์ โฟโต้กราฟฟี่
2. แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จก.
3. 20 Year Thailand Largest Photo Magazine April 2009 No.9 Vol.19
4. ShutterPhoto.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น